วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เปิดประวัติ น้องเก๋ ประภาวดี ฮีโร่โอลิมปิกคนใหม่


เปิดประวัติ น้องเก๋ ประภาวดี ฮีโร่โอลิมปิกคนใหม่
ประเทศไทยมี "ฮีโร่โอลิมปิก" คนใหม่ ชื่อ ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล จอมพลังสาวนักยกน้ำหนักทีมชาติไทย หลังจากสาวจากเมืองปากน้ำโพคว้าเหรียญทองยกน้ำหนัก ในกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 29 มาครองได้สำเร็จ แต่เส้นทางสู่ความสำเร็จไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากปราศจากความมุมานะ บากบั่น ด้วยจิตใจที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าเหล็กที่เธอยกเสียอีก






"น้องเก๋" ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล ชื่อเดิม จันทร์พิมพ์ กันทะเตียน เป็นบุตรสาวของ นายจันทร์แก้ว กันทะเตียน และ นางราศรี ทัดทอง เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2527 ที่ จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันอายุ 24 ปี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จากวิทยาลัยพลศึกษา จังหวัดเชียงใหม่ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ก่อนมาเป็นบัณฑิตสาวจากสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ขณะนี้กำลังศึกษาระดับปริญญาโท ที่สถาบันแห่งเดียวกัน เด็กสาวที่ชื่อ จันทร์พิมพ์ เล่นยกน้ำหนักครั้งแรก ในปี 2537 มี อ.สมชาติ แสงน้อย และ อ.ประทีป แสงน้อย เป็นโค้ชคนแรก ก่อนเข้าสังกัด สโมสรถาวรฟาร์ม ของ จังหวัดนครสวรรค์ กีฬายกน้ำหนักเป็นกีฬาที่ไม่สนุก และต้องใช้ความอดทน มุมานะอย่างสูง เรื่องของความสวยงามที่สตรีเพศทุกคนใฝ่หานั้นไม่ต้องพูดถึง และกว่าที่จันทร์พิมพ์ จะสามารถก้าวขึ้นถึงทีมชาติ ต้องรอคอยกระทั่งถึงปี 2544

ในเว็บไซต์ของ ม.นอร์ท-เชียงใหม่ กล่าวยกย่อง จันทร์พิมพ์ ในฐานะนักศึกษาทุน 100% ประเภทนักกีฬา ว่า "น้องเก๋" ไม่เคยท้อต่ออุปสรรค ด้วยเพราะต้องเป็นเสาหลักของครอบครัว และเงินที่ได้รับจากการแข่งขันทุกครั้งได้นำมาดูแลครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างยากจน จนปัจจุบันความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้นมาก แต่จันทร์พิมพ์ยังมุ่งมั่นและทุ่มเทให้กีฬายกน้ำหนักอยู่เสมอ ความผิดหวังครั้งสำคัญของ จันทร์พิมพ์ เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน ในการคัดเลือกเป็นตัวแทนทีมชาติเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2004 ที่ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในรุ่น 53 กิโลกรัมหญิง โดยสมาคมยกน้ำหนักแห่งประเทศไทย ตัดสินใจส่ง "น้องอร" อุดมพร พลศักดิ์ เป็นผู้ที่ได้ตั๋ว "เอเธนส์เกมส์" ส่วน "น้องเก๋" ซึ่งประสบอาการบาดเจ็บต้องตกเครื่องในเที่ยวสุดท้าย ซึ่งในเวลาต่อมา "น้องอร" กลายเป็นฮีโร่นักกีฬาหญิงคนแรกของประเทศไทย ที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์มาครอง พร้อมกับวลี "สู้โว้ย" ที่ดังไปทั่วประเทศ ความเศร้าเสียใจเปรียบเสมือนฝันร้ายในครั้งนั้น "น้องเก๋" เกือบจะอำลาทีมชาติ ด้วยฉายา "จอมพลังขี้แย" หลังจากความโศกเศร้า ความเสียใจผ่านพ้นไป "น้องเก๋" เปลี่ยนชื่อและนามสกุลใหม่จาก "จันทร์พิมพ์ กันทะเตียน" มาเป็น "ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล" เช่นเดียวกับครอบครัวก็เปลี่ยนนามสกุลมาใช้ "เจริญรัตนธารากูล" เช่นเดียวกัน "จันทร์พิมพ์" คนเดิม ทิ้งไว้เบื้องหลัง "ประภาวดี" กำลังจะก้าวต่อไป ...

"ตอนนั้นเหมือนโลกมืดไปหมด เก๋แทบเสียคน ทุกอย่างเสียศูนย์ไปหมด ถึงขั้นตัดสินใจเลยว่าจะเลิกเล่น แต่เก๋นึกถึงพ่อแม่ ทำให้รู้ว่าเรามีหน้าที่ที่ต้องทำ" จอมพลังสาว กล่าว เพียงแต่เมฆหมอกแห่งความโชคร้ายยังไม่หมดแค่นั้น ในศึกยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก ที่ จังหวัดเชียงใหม่ เดือนกันยายน เมื่อปี 2550 ประภาวดี โชคร้ายอีกครั้ง ในการแข่งขันรุ่น 53 กิโลกรัม ที่เธอมีโอกาสได้เหรียญทอง แต่กลับประสบอุบัติเหตุ "ข้อศอกขวาหลุด" ในการยกท่าสแนทช์ เธอทิ้งเหล็กลงอย่างเจ็บปวด ชวดทุกเหรียญยังไม่พอ "น้องเก๋" ต้องรักษาตัว 3 เดือน พลาดติดทีมชาติลงแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ที่ จังหวัดนครราชสีมา ในปลายปีเดียวกัน

1 เหรียญทองแดง ยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก (ชายครั้งที่ 73 หญิงครั้งที่ 16) ที่ ประเทศแคนาดา ปี 2546 - 1 เหรียญทอง กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 22 ที่ประเทศเวียดนาม ปี 2546 - 3 เหรียญทอง ยกน้ำหนักเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย (ชายครั้งที่ 17 หญิงครั้งที่ 9 ) ที่ จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2547 - 3 เหรียญทอง ยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปี 2548 - 1 เหรียญทอง ยกน้ำหนักชิงแชมป์โลกที่กาตาร์ ปี 2549 - 3 เหรียญทอง ยกน้ำหนักชิงชนะเลิศมหาวิทยาลัยโลก ที่เมืองอิซเมียร์ ประเทศตุรกี ปี 2549 - 1 เหรียญเงิน กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 15 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ปี 2549 - 1 เหรียญทอง ยกน้ำหนักชิงแชมป์เอเชีย ที่ประเทศจีน ปี 2550 - นักกีฬาเยาวชนสมัครเล่นหญิงดีเด่น ในวันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี 2546 จากการกีฬาแห่งประเทศไทย


ไม่มีความคิดเห็น: